วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ข่าวประจำวันที่ 29 ก.ค..54

กลุ่มจังหวัดอันดามัน ซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ระดับกลุ่มจังหวัดอันดามัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลใน      

          เมื่อเวลา 14.00 น. วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ที่บริเวณท่าเรือเทียบอ่าวปอ ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นาย วีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลในระดับกลุ่มจังหวัดอันดามัน โดยมี นาย สันต์ จันทรวงศ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต  นายวิชิต บุญรอด   หัวหน้าสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ซึ่งจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 จัดขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมระบบการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การประสานการปฏิบัติเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน มูลนิธิต่างๆ เพื่อให้สามารถป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลได้ทันเหตุการณ์      
          รวมทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่เดินทางโดยทางเรือเพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันที่กำหนดให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลในระดับโลกประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจสู่นานาชาติ โดยได้รับการสนับสนุนบุคลากรและเรือจาก ทัพเรือภาคที่ 3 ตำรวจน้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มูลนิธิกุศลธรรม รวมไปถึงเรือผู้ประกอบการใน จ.ภูเก็ต ชุดกู้ชีพกู้ภัย และเรือเร็วจาก อบต.อ่าวนาง จ.กระบี่ และ อบต.เกาะปันหยี จ.พังงา เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งการซ้อมแผนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
          สำหรับการซ้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลในครั้งนี้ได้สมมุติให้มีเหตุการณ์เรือโดยสารนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ มีผู้โดยสารประมาณ 200 คน ประสบอุบัติเหตุชนกับเรือบรรทุกสินค้า จนเกิดเพลิงลุกไหม้ ขณะออกเดินทางจากท่าเทียบเรืออ่าวปอเพื่อไปท่องเที่ยวยังอ่าวพังงา จ.พังงา ได้ประมาณ 30 นาที ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก  
           หลังจากนั้นได้มีการแจ้งขอความช่วยเหลือมายัง อบต.ป่าคลอก หลังรับแจ้งทางอบต.ได้ประสานขอกำลังจากทัพเรือภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมกำลัง ทีมกู้ชีพกู้ภัย ทีมแพทย์ฉุกเฉิน และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือตามแผน พร้อมกับได้กำหนดแผนบัญชาการเหตุการณ์ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับจังหวัด โดยมี อบต.ป่าคลอก อำเภอถลาง สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.ภูเก็ต และรองผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมบัญชาการเหตุการณ์  
           นาย พิจิตร วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 กล่าวว่า การซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลในครั้งนี้สืบเนื่องจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ได้รับงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคใต้อันดามันตามโครงการจัดตั้งศูนย์กู้ภัยทางทะเลขึ้น เพื่อจัดหาอุปกรณ์กู้ภัยทางทะเล ขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการส่งมอบอุปกรณ์ให้จังหวัดต่างๆครบแล้วโดยในวันนี้ได้มอบเรือตรวจการณ์จำนวน 3 ลำ เรือยาง 9 ที่นั่ง รถยนต์จำนวน 3 คัน สถานีไลน์การ์ดพร้อมเครื่องมือ 3 ชุด ให้กับ 3 จังหวัด จังหวัดละ 1 ชุด ประกอบด้วย จ.พังงา ตรัง และ จ.ระนอง
      
              ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรในแต่ละพื้นที่ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลจึงได้กำหนดให้มีการซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลขึ้น โดยเลือกพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ท่าเทียบเรืออ่าวปอ เป็นสถานที่ฝึกซ้อมเนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีเรือขนส่งนักท่องเที่ยวและเรือขนส่งสินค้าทางทะเลจำนวนมาก และเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุสูง จังหวัดภูเก็ตเป็นสถานที่ซ้อมเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
              การซ้อมแผนในครั้งนี้เป็นการซ้อมแผนที่มีความรุนแรงในระดับ 3 ซึ่งเป็นภัยที่เกิดขีดความสามารถของจังหวัดต้องขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานพื้นที่ใกล้เคียงทั้งจากจังหวัดกระบี่และจังหวัดพังงาเข้าร่วมด้วย
              ขณะที่นาย วีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามันเป็นพื้นที่ที่มีความเสียงในการเกิดอุบัติเหตุทางทะเลสูง จึงเป็นโอกาสดีที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันฝึกซ้อมแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีความชำนาญ เข้าใจ และสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลทำได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
--------------------------------------
อบต.มลาจัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ 12 สิงหามหาราชินี
นายจุฑา ดุมลักษณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกมลา  กล่าวถึงการจัดกิจกรรมเนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2554 ว่า ในวันที่ 9 สิงหาคมที่จะถึงนี้ทาง อบต.กมลา ได้จัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นบริเวณพื้นที่เขาเก็ตหนี หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 5 ต.กมลา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสาธารณะ ป่าชุมชน โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 น.เป็นต้นไป ทั้งนี้สำหรับประชาชนที่สนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ทาง อบต.มีรถบริการรับส่งบริเวณสนามฟุตบอลหน้า โรงแรม คอร์ทยาร์ด บาย แมริออท ภูเก็ต แอท กมลาบีช 
             "เขาเก็ตหนี มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ตั้งอยู่บนยอดเขาที่มีความสูงมากกว่าระดับน้ำทะเลถึง 380 เมตร เมื่อขึ้นไปด้านบนจะพบสภาพอากาศที่หนาวคล้ายเมืองในหมอก ด้วยความสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้นานาชนิด และสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบ 360 องศา ทั้งในฝั่งของชายหาดสุรินทร์ฝั่ง ต.เชิงทะเล อ.ถลาง และชายหาดป่าตอง ต.กะทู้ นอกจากนั้นยังมีน้ำตกที่สวยงาม และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่ง จ.ภูเก็ต และอบต.กมลา ได้เข้าไปพัฒนาเพื่อทำเป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับชาวกมลาใช้เพื่ออุปโภคและบริโภคในช่วงที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งได้ร่วมกันปลูกป่าเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้เขาเก็ตหนี เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีพื้นที่บางส่วนถูกบุกรุก จึงต้องเร่งทำความเข้าใจและสร้างจิตสำนึกในการร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดความยั่งยืน เพราะถือเป็นจุดขายสำคัญ
              นอกจากนี้นายจุฑา ได้กล่าวถึงการพัฒนา เขาเก็ตหนีเพื่อให้เป็นเมืองไม้ดอกไม้ประดับบนยอดเขา ด้วยว่า ขณะนี้ อบต.กมลา ได้พัฒนาขุมน้ำบนเขาเก็ตหนี ตั้งอยู่บริเวณหมู่ 3 และหมู่ 5 ของ ต.กมลา ให้เป็นเมืองไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของตำบลและเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยว นอกเหนือจากชายหาดที่มีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร และวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ชื่นชอบความสงบและต้องการการพักผ่อนอย่างแท้จริง
              การพัฒนาเขาเก็ตหนีให้เป็นเมืองไม้ดอกไม้ประดับบนยอดเขานั้น ขณะนี้อยู่ในช่วงของการจัดทำทีโออาร์ เพื่อออกแบบพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่บนเขาประมาณ 300 ไร่ จากเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,000 ไร่ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็จะให้คงสภาพความเป็นป่าสมบูรณ์ไว้ เบื้องต้นคาดว่าการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวจะใช้งบประมาณในการดำเนินการประมาณกว่า 450 ล้านบาท ทั้งการสร้างเมืองไม้ดอกไม้ประดับ การสร้างจุดชมวิวหอเฉลิมพระเกียรติ การปรับปรุงสภาพถนนเข้าไปยังจุดดังกล่าว ขณะนี้ได้รับงบประมาณในการตัดถนนขึ้นไปส่วนหนึ่งแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าว
***สิรินทร สินอนันต์ สารภี ศรีธรรมรัตน์ ตรวจทาน
------------------------------------
สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตให้ความรู้ผู้ประกอบการสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันรองรับประชาคมอาเซียน 4 ปีข้างหน้า
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุม RPM รอยัลภูเก็ต มารีน่า อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมประสงค์ โขมพัตต์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดการสัมมนา “Phuket Creative Tourism II” ซึ่งทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต จัดขึ้น ทั้งนี้ได้มีการเสวนา เรื่อง การสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของภูเก็ต เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน มีวิทยากร ประกอบด้วย นายสมประสงค์ โขมพัตต์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวิจิตร ณ ระนอง อดีตประธานคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศ.ดร.จีระ หงส์รดารมภ์ เลขามูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศและ รศ.นิศา ชัชกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต โดยมี รศ.ดร.ประภา กาหยี อธิบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต นายสมบูรณ์ จิรายุส นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการและสมาชิกสมาคมฯ ตลอดจน อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต เข้าร่วม
           นายสมบูรณ์ กล่าวว่า การจัดสัมมนาดังกล่าวเพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของสมาคมฯ ในการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตในระยะยาว ซึ่งในปี 2553 ได้กำหนดยุทธศาสตร์โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการใช้รูปแบบผสมผสานระหว่างชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการพัฒนาการจัดการแบบยั่งยืน ตลอดจนเพื่อให้สมาชิกของสมาคมฯ และผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนเพื่อสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของภูเก็ตเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนในอีก 4
ปีข้างหน้าด้วย
            ศ.ดร.จีระ หงส์รดารมภ์ เลขามูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ กล่าวถึงอนาคตของภูเก็ตว่า จะต้องเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มีคุณภาพ มีมูลค่าเพิ่มและกระจายรายได้ให้คนไทยมากกว่าชาวต่างประเทศ เนื่องจากแบรนด์ของภูเก็ตเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แต่
Brand Positioning
จะต้องสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้ยุทธวิธิในการเพิ่มความแข็งแกร่ง นอกจากเป็นเมืองเพื่อท่องเที่ยวและพักผ่อนแล้ว จะต้องสามารถทำงานได้ด้วย ส่วนไหนที่ขาดก็จะต้องเติมเต็ม เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ระบบไอที การบริหารจัดการ เป็นต้น ขณะเดียวกันในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ตก็จะต้องมีการปรับตัวโดยการผลิตทุนมนุษย์ออกมารองรับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องของภาษาต่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มธุรกิจใหม่ๆ เช่น ไอที การแพทย์ การฝึกอบรม เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะต้องมีการติดต่อประสานงานกับประเทศต่างๆในภูมิภาคให้มากขึ้น นอกเหนือจากมุ่งหวังเฉพาะกลุ่มยุโรป และจะต้องมีการสร้างครัสเตอร์กลุ่มจังหวัดด้วย
            ด้านนายสมประสงค์ โขมพัตต์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การปรับตัวเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนนั้นเป็นเรื่องท้าทายสำหรับภูเก็ตอย่างมาก เช่น การพัฒนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับเมืองนิช ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งขาดความต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่เป็นโอกาสที่ดีมากสามารถดำเนินการได้ในระดับท้องถิ่น โดยเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภูเก็ตในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามามากขึ้น ควรมีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์กับจังหวัดใกล้เคียงด้วย เช่น กระบี่ พังงา เป็นต้น แม้ว่าโดยตัวของภูเก็ตนั้นจะขายได้อยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยวและมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเสน่ห์สำคัญของภูเก็ตนอกจากเรื่องของอาหาร วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ แล้ว แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะจะเห็นว่าปัจจุบันจะเน้นเฉพาะการพัฒนาทางด้านวัตถุค่อนข้างมาก โดยดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เช่น หาดในยาง เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะต้องเพิ่มความหลากหลายทั้งในเรื่องของไอที กีฬา เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ท้าทายความสามารถทั้งสิ้น
               ขณะที่นายวิจิตร ณ ระนอง อดีตประธานคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าภูเก็ตจะเป็นที่ยอมรับทั่วโลก แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นถือว่ายังไม่สมบูรณ์ เพราะการพัฒนาที่ผ่านมามุ่งเน้นการเติบโตไปในทิศทางเดียวเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงการดูแลและรักษาเพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น ดังนั้นการเปิดเสรีอาเซียนจึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาในส่วนของทรัพยากรมนุษย์ควบคู่กันไปด้วย
               ภาพรวมการท่องเที่ยวของภูเก็ตนั้นมีการเติบโตที่ดีทั้งเรื่องของตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและรายได้ แต่เมื่อถามถึงเรื่องความยั่งยืนก็ยังมีข้อกังขากันอยู่ ดังนั้นการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะมองเฉพาะมิติของตัวเลขหรือรายได้อย่างเดียวคงไม่พอ แต่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่ยิ่งยืน และให้เกิดความหลากหลายด้วยการเพิ่มมูลค่าของโปรดักส์หรือสินค้าที่มีอยู่ เพราะที่ผ่านมาเราเน้นเฉพาะเรื่องของน้ำจิ้มหรือองค์ประกอบอื่น แต่เราไม่ได้สนใจอาหารจานหลักซึ่งถือเป็นหัวใจและเส้นเลือดอย่างจริงจัง รวมถึงการให้บริการที่มีมาตรฐานซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขัน ตลอดจนการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มความหลากหลายให้กับธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวและเป็นธุรกิจที่มาช่วยเสริมหรือไม่ทำลายการท่องเที่ยว เช่น บริการสุขภาพ กีฬา ไอที เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะต้องมีการดูแลสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมโดยการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามไว้ โดยไม่หลงระเริงไปกับวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่รุกล้ำเข้ามาจนลืมรากเหง้าของตัวเอง นายวิจิตรกล่าว 
***สาลินี  ปราบ/สนับสนุนข่าว
----------------------------------------
เริ่มแล้วงานแสดงเทคโนโลยีและวัสดุก่อสร้างฯ ที่ภูเก็ต  28-31 กรกฎาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต

เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้มีการจัดงานแสดงเทคโนโลยีและวัสดุก่อสร้าง เครื่องมือช่าง การออกแบบ และการบำรุงรักษาอาคาร ในระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2554 โดยมีนายธนันท์ ตัณฑ์ไพบูลย์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน ผศ.ดร.ประภา   กาหยี  อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต แขกผู้มีเกียรติ รวมถึงผู้เข้าชมงานทั้งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และใกล้เคียง ตลอดจนผู้แสดงสินค้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าและนำเข้าสินค้าเกี่ยวกับการก่อสร้าง บำรุงรักษา วิศวกรรม และการออกแบบบ้าน โรงแรม รีสอร์ท สปา ศูนย์การค้า เครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ในโรงแรม อาคารศูนย์ประชุม ท่าเรือ รถกระเช้า สวนน้ำ สวนสนุก และสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เข้าร่วม
               นายธเนศร์ ไกรวุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิค ภูเก็ต  จำกัด กล่าวว่า การจัดงานนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านการก่อสร้างมาให้กับชาวภูเก็ตและภาคใต้ตอนล่างได้ชม   ปกติจะต้องเดินทางไปถึงกรุงเทพฯ ซึ่งก็มีปีละครั้ง ประมาณเดือนเมษายน เป็นงานที่ใหญ่มาก ๆ แต่ว่างานที่กรุงเทพฯ เวลาคนที่อยู่ไกลๆ ไปดูเขามีเวลาน้อย ไปแค่วันสองวันก็ดูไม่ครบ ดูแล้วงงไม่รู้จะเอาอะไรมาใช้อีก เพราะฉะนั้นเราก็เลยย่องานจากกรุงเทพฯ มาไว้ที่ภูเก็ต โดยคัดเลือกเฉพาะสินค้าใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ มานำเสนอ ซึ่งจะทำให้ทางภูเก็ตได้รับทราบข้อมูลที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้เยอะ อย่างเช่นปีนี้ เรื่องของการประหยัดพลังงาน ก็มีอุปกรณ์ลดการใช้พลังงานมาจัดแสดงภายในงาน บางอย่างที่ภูเก็ตมีปัญหาเยอะๆ อย่างเช่นหลังคารั่ว เราก็ยังมีวัสดุที่เอามาใช้ตรงส่วนนี้ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีด้านการนำเสนอใหม่ๆ อย่างเช่นจอพลาสติก โครงการใหญ่ๆ ใช้เครื่องมือเหล่านี้กันก็เลยนำมาให้ดูว่าเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเอามาใช้ที่ภูเก็ตได้ด้วย
                โดยบูธที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ จาก  80 บริษัท มีจำนวน 140 บูธ ตั้งแต่บูธก่อสร้าง ลงเสาเข็มจนถึงหลังคา สร้างบ้านเสร็จก็มาต่อเติมมาตกแต่งภายใน ระบบไฟฟ้า ระบบการสื่อสาร โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต มีครบจนถึงการบำรุงรักษาอาคาร ส่วนผู้ที่เข้ามาชมงาน ปกติมีผู้เข้าชมงานเฉลี่ยวันละ 1,000-2,000 คน เป็นกลุ่มเฉพาะ ก็จะมีกลุ่มสถาปนิก กลุ่มเจ้าของโครงการ โรงแรม ฝ่ายช่าง ผู้รับเหมา ผู้ที่อยู่ในวงการก่อสร้าง และก็เป็นผู้ที่ต้องดูแลรักษาอาคารตามโรงแรมต่างๆ
                 นายธเนศร์ กล่าวถึงการติดต่อสั่งซื้อสินค้าภายหลังการจัดแสดงสินค้า ว่า ถ้าเป็นปีที่เศรษฐกิจดีๆ จะอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท แต่ถ้าอยู่ในระดับปกติขายกันประมาณ 500-600 ล้านบาท เป็นมูลค่าวัสดุตั้งแต่พื้นถึงหลังคา อย่างไรก็ตามแนวโน้มการใช้งานวัสดุ มองว่ารวดเร็วขึ้น กล่าวคือจะเห็นได้ว่าอาคารปัจจุบันนี้สร้างเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นคอนโด หรืออาคารพาณิชย์สร้างไม่เกิน 6 เดือน เพื่อจะขยับเวลา ขยับแรงงาน
*** สารภี  ศรีธรรมรัตน์/สนับสนุนข่าว
------------------------------------------------
โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จัดพิธีถวายน้ำสรงพระศพหน้าพระฉายาลักษณ์

                วันนี้ (28 ก.ค. 54) ที่หอประชุมโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญาในพระอุปถัมภ์ฯ นายสมเกียรติ  สังข์ขาวสุทธิรักษ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีถวายน้ำสรงพระศพ และพิธีลงนามแสดงความไว้อาลัยต่อหน้าพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยมีนายธนากร  เหล็กกล้า   ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญาในพระอุปถัมภ์ฯ นายทวี  ตันสุคตานนท์ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ครู อาจารย์   นักเรียน  หน่วยงานราชการและประชาชนเข้าร่วมในพิธี
                นายธนากร  กล่าวว่า ตามที่สำนักพระราชวัง ได้มีแถลงการณ์ว่าสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ ตึก 84 ปี ชั้น 5 ด้านตะวันออก  โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2554 แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ  พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับและสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16.37 นาที เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 รวมพระชันษา 85 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพ ถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี ประดิษฐาน พระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระศพหน้าพระฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง นั้น
                 เนื่องจากโรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา เป็นโรงเรียนในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จึงได้จัดสถานที่ประกอบพิธีให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระศพหน้าพระฉายาลักษณ์ขึ้นในวันนี้ (28 ก.ค. 54) ทั้งนี้เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดี
                ทั้งนี้นอกจากจะมีพิธีดังกล่าวแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในสำนักฯ ไว้ทุกข์ถวายมีกำหนด 100 วันตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์เป็นต้นไป ส่วนข้าราชการ ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการไว้ทุกข์ถวาย เป็นเวลา 15 วัน รวมถึงให้สถานที่ราชการลดธงครึ่งเสาเพื่อเป็นการไว้อาลัย ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป  
***ณรงค์ศักดิ์  แสงสีดำ ส.ปชส.ภูเก็ต/ข่าว  เสงี่ยม  เอียดตน /พิมพ์
---------------------------------------
ภูเก็ตประชุมคัดเลือกครูผู้สอนดีเด่น ประจำปี 2554

                เมือวันที่  28 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมสึนามิ (Phuket POC) นายนิวิทย์  อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการประชุมคัดเลือกครูผู้สอนดีเด่นประจำปี 2554 โดยมีคณะกรรมการจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
                ทั้งนี้ตามที่จังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกครูผู้สอนดีเด่นประจำปี 2554 ดำเนินการคัดเลือกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ 10 กลุ่มสาระ ที่มีการสอนดีเด่นประเภทละ 1 คน เพื่อรับรางวัลเกียรติบัตรและเข็มเชิดชูเกียรติตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1325/2554 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2554 และคณะกรรมการฯ ได้ประชุมพิจารณาไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้ปรับเปลี่ยนกรรมการบางส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพื่อความเหมาะสม และให้คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ร่วมปรึกษาหารือเพื่อกำหนดแนวทางการคัดเลือกและแบ่งมอบหน้าที่ในการพิจารณาคัดเลือกให้มีประสิทธิภาพและได้ผลการคัดเลือกที่ถูกต้องและเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เสนอผลงานเข้ารับการคัดเลือกทุกราย  ทั้งนี้การประชุมคัดเลือกครูผู้สอนดีเด่นในวันนี้เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจตัวชี้วัดและหลักเกณฑ์ที่กำหนด 
ทั้งนี้ในส่วนของกลุ่มสาระทั้ง 10 สาระที่ได้มีการส่งผลงานให้คณะกรรมการพิจารณาประกอบด้วย ครูผู้สอนปฐมวัย   ครูผู้สอนกลุ่มสาระอีก 9 กลุ่มประกอบด้วย การเรียนรู้คณิตศาสตร์   การเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม การเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา การเรียนรู้ศิลปะ  การเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี การเรียนรู้ภาษาไทย การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศและครูผู้สอนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนดีเด่น โดยมีครูจากโรงเรียนต่าง ๆ ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งผลงานครบทั้ง 10 กลุ่ม ซึ่งทางคณะกรรมการฯ จะพิจารณาตามกฏเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อให้ได้ครูผู้สอนดีเด่นต่อไป  
***ณรงค์ศักดิ์  แสงสีดำ /ข่าว  เสงี่ยม  เอียดตน ส.ปชส.ภูเก็ต/พิมพ์
--------------------------------------
หัวหน้าโบราณคดีฯ ภูเก็ต ยืนยันด้วยหลักฐาน ลูกปัดโบราณยังอยู่ ไม่ได้สูญหายหรืออยู่ในความครอบครองของตน พร้อมเผยเคยนำไปจัดแสดงแล้วครั้งหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติถลาง และขณะนี้อยู่ในกระบวนการของการ ศึกษาวิเคราะห์วิจัยทางโบราณคดี ระบุของทุกชิ้นยังอยู่ครบ ประชาชนหรือบุคคลที่สงสัยสามารถตรวจสอบได้ที่กรมศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต

               วันนี้ (27 ก.ค.54) ที่สำนักงานศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ร้อยเอกบุญฤทธิ์ สายสุวรรณ หัวหน้าโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ได้นำลูกปัด พร้อมวัตถุโบราณอื่น ๆ ที่ขุดพบเมื่อปี 2547 และปี 2548 ที่ แหล่งโบราณคดี ต.ปากจั่น อ.คุระบุรี จ.พังงา และ แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง มายืนยันกับทางผู้สื่อข่าว และต่อหน้านายสุธา ประทีป ณ ถลาง ตัวแทนชาวบ้านที่ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบ กรณีที่ตน ได้ทำโครงการของบประมาณจากกรมศิลปากร เพื่อนำไปขุดค้นหาลูกปัดเพื่อนำลูกปัดดังกล่าวไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันผู้ร้องแจ้งว่าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติถลาง จ.ภูเก็ต ไม่มีลูกปัดนำมาแสดงแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงได้ทำหนังสือขอให้มีการตรวจสอบตน โดยร้องขอให้กองบังคับการปราบปรามตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว 

                ร้อยเอกบุญฤทธิ์ กล่าวว่า สำหรับลูกปัดที่ขุดพบ ที่เป็นกรณีปัญหา ว่าอยู่ที่ไหน อย่างไร มีการจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบทั้งหมด มีการบันทึกตามขั้นตอนทางโบราณคดีถูกต้อง เพราะฉะนั้นยืนยันเลยว่าในเรื่องที่เราใช้งบประมาณเข้าไปขุดค้นโบราณคดี เรามีหลักฐานที่ได้จากการขุดค้น

                 "ที่จริงทางโบราณคดีเราไม่ได้ขุดลูกปัดอย่างเดียว โบราณวัตถุอื่นๆ ด้วย ภาชนะดินเผา เศษกระดูกสัตว์และอื่นๆ เราเก็บหมดแต่ลูกปัดซึ่งเป็นโบราณวัตถุอันหนึ่งที่มีความสำคัญและเราก็เก็บไว้ ที่ยังไม่ส่งพิพิธภัณฑ์คืออยู่ในขั้นตอนการศึก๋ษาวิจัย ซึ่งตรงนี้จริงๆ แล้วเราก็เคยเอาไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติถลางแล้วเมื่อคราวงาน 100 ปีกรมศิลปากร แต่นี้ในกรณีที่บอกว่าลูกปัดหายไปไหนหรืออยู่กับใครหรือเปล่าที่เป็นข้อสงสัยกัน ที่จริงแล้วของโบราณวัตถุทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะแค่ลูกปัดเราก็เก็บไว้อย่างเป็นระบบ ทั้งที่ขุดได้จากแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง และปากจั่น" ร้อยเอกบุญฤทธิ์ กล่าว และว่า
                  ในส่วนของลูกปัดที่มีปัญหากรณีว่าตนไม่ได้ส่งพิพิธภัณฑ์หรือครอบครอง ที่จริงอยู่ในกระบวนของการศึกษาวิเคราะห์วิจัยทางโบราณคดี ในทางโบราณคดีเมื่อขุดเสร็จแล้ว มีขั้นตอนหลังการขุดค้นซึ่งยากกว่าการขุดค้นเยอะมาก ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะหาคำตอบ อย่างเช่นลูกปัด วัตถุดิบมาจากไหน ใครเป็นคนทำ เทคโนโลยีในการทำมาจากไหน มันอยู่ในขั้นตอนของการวิเคราะห์ เช่นลูกปัดแก้วที่เราขุดพบเป็นจำนวนมาก มีคำถามอยู่มากมายในการศึกษาวิจัย ลูกปัดผลิตขึ้นในท้องถิ่นหรือนำเข้า ถ้านำเข้า นำเข้ามาจากที่ไหน และลูกปัดที่เราเจอ สมมุติถ้าทำในท้องถิ่นส่งออกไปที่ไหนบ้าง อันนี้ใช้ขั้นตอนในการศึกษาวิจัยที่ต้องใช้การวิเคราะห์ศึกษาทางวิทยาศาสตร์ บางทีทั้งชีวิตยังหาคำตอบไม่ได้ก็มี

อย่างไรก็ตามโบราณคดีภูเขาทอง ที่มีการขุดพบ ซึ่งใช้เวลาในการขุดค้นหา 2 ปี คือปี 2547 กับ 2548 ถูกเก็บไว้อย่างเป็นระบบที่กรมศิลปากร ซึ่งอยู่บริเวณพื้นที่เดียวกันกับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติถลาง ซึ่งถูกเก็บไว้อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือบุคคลที่สงสัย สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งของทุกชิ้นยังอยู่ครบ
               ด้านนายสุธา ประทีป ณ ถลาง กล่าวภายหลังตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า จากการตรวจสอบมีหลังฐานว่าเป็นของจากภูเขาทอง และปากจั่น อันนี้ระหว่างขุดค้นนั้น ตนไม่ได้ไปเห็นด้วยตัวเอง จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าตรงกันหรือไม่ ถ้าชาวบ้านอยากจะมาติดตามว่า ของเหล่านี้ตรงกับที่ขุดหรือไม่ ก็ต้องให้ผู้ที่ร่วมขุดมาดูอีกครั้งหนึ่ง  
"วันนี้ผมได้มาดูของด้วยตัวเองก็มีของอยู่จริงแต่ก็ไม่ได้นับจำนวนเพราะว่ามันเล็กมาก เปิดออกมาแล้วหายก็เป็นปัญหาอีก ตนจะประสานไปทางกลุ่มที่ขุด ถ้าเขาติดใจก็ให้มาดูกันอีกทีหนึ่ง ถ้าในส่วนนั้นเป็นยังไงค่อยว่ากันอีกทีหนึ่งเพราะว่า มาดูแล้วทางสำนักศิลปากรที่ 15
ก็ให้ความร่วมมือด้วยดี"
                 นายสุธา กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ได้มีการร้องเรียน สืบเนื่องจากว่า ตนได้มำการศึกษา ทราบว่า โบราณวัตถุซึ่งเป็นโบราณวัตถุตามมาตรา
24 จะต้องจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ตนก็ได้เข้ามาในพิพิธภัณฑ์ประมาณ ปลายปี 2552เพื่อมาศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆ ตนไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย เมื่อเข้าไปศึกษาแล้วผลปรากฏว่า เราไม่เห็น ก็ร้องให้ไปตรวจสอบว่าที่ไปขุดมานักโบราณคดีเอาไปไว้ที่ไหน ในเมื่อของมีการยืนยันชัดเจนก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วก็ไม่เป็นปัญหาอะไร
                "ที่ไปดูที่ภูเขาทองเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นลักษณะเล็กๆ อย่างที่ทางนักโบราณคดีเอามาให้ดูในวันนี้ ตรงกับที่ชาวบ้านที่เขาไปแอบขุดแล้วเอามาให้ดู" นายสุธา กล่าวในที่สุด
***สารภี  ศรีธรรมรัตน์/สนับสนุนข่าว
-----------------------------------------
อบจ.ภูเก็ตดึงทุกภาคส่วนในพื้นที่ภูเก็ตร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่างๆเพื่อนำไปประกอบใช้ในการทำแผนพัฒนา 3 ปีเมืองภูเก็ตให้ตรงความต้องการของประชาชนมากที่สุด.
เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 28 กรกฏาคม 54 นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานการประชุมสัมมนาประชาคมท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ตในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนา 3 ปี พ.ศ.2555-2557 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้ใหญ่ กำนัน ผู้นำท้องถิ่น ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมจำนวนมาก           นายไพบูลย์  กล่าวว่า การจัดประชุมสัมมนาในครั้งนี้สืบเนื่องจาก อบจ.ภูเก็ตได้คำนึงถึงบทบาทหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจในการจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชนในท้องถิ่น ฉะนั้นจึงต้องมีการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการของทุกภาคส่วนตลอดจนรับฟังความคิดเห็นและแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่นที่ อบจ. จะต้องนำมาประกอบการวิเคราะห์ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาและแผน 3 ปีให้สอดคล้องกับนโยบายของ อบจ.ภูเก็ต
           สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้พัฒนาด้านการศึกษารวมทั้งการร่วมกันสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนมีการรักบ้านเกิดมากกว่านี้ทั้งยังต้องการให้มีการปรับปรุงเมืองภูเก็ตให้น่าอยู่มากกว่านี้ด้วย 
***city news เคเบิลทีวี/สนับสนุนข่าว
-----------------------------------------------
อบจ.ภูเก็ต จัดกิจกรรมให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้นำสตรีมุสลิม รุ่นที่ 1 ประจำปี 2554

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 เวลา 09.00 . นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพสตรีมุสลิม จังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2554 (กิจกรรมให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้นำสตรีมุสลิม รุ่นที่ 1) ณ โรงแรมดีนารฺ ลอดจ์ ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต โดยมี นายสรธรรม จินดา รองนายก อบจ.ภูเก็ต
นายจิรศักดิ์ ท่อทิพย์ ที่ปรึกษานายก อบจ.ภูเก็ต นายประดิษฐ์ แสงจันทร์ ประธานสภา อบจ.ภูเก็ต นายสนธยา สุนธารักษ์ สมาชิกสภา อบจ.ภูเก็ต  นางสาวสมลักษณ์ ขอบรรพกุล ผู้อำนวยการกองกิจ
การสภา อบจ.ภูเก็ต ข้าราชการและเจ้าหน้าที่จาก อบจ.ภูเก็ต ตลอดจนผู้มีเกียรติ เข้าร่วม ซึ่งมี นายบำรุง สำเภารัตน์ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม
นายจิรศักดิ์ ท่อทิพย์ ที่ปรึกษานายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพสตรีมุสลิม จึงได้จัดอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพสตรีมุสลิมขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความรู้ ทักษะ และขีดความสามารถในการพัฒนาศักยภาพของสตรีมุสลิม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเสริมสร้างบุคลากรให้กลุ่มสตรีในชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในปีมหามงคลยิ่งที่ทรงมีพระชนม์มายุ 84 พรรษา เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและชุมชน ซึ่งโครงการพัฒนาศักยภาพสตรีมุสลิมในจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2554 แบ่งเป็น 2 กิจกรรม คือ กิจกรรมอบรมและศึกษาดูงานด้านการพัฒนาศักยภาพสตรีมุสลิมของจังหวัดทางภาคกลางและภาคตะวันออก โดยจัดไปแล้วระหว่างวันที่ 18-23 เมษายน 2554 ส่วนกิจกรรมให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพสตรีมุสลิม จัดระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2554 ณ โรงแรมดีนารฺ ลอดจ์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการอบรม คือ ผู้นำสตรีมุสลิมในจังหวัดภูเก็ต รุ่นละ 50 คน โดยมีทีมวิทยากรจากสถาบันพัฒนาการพูดและบุคลิกภาพ อมานะห์มาบรรยายให้ความรู้ ซึ่งคาดว่าผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านจะได้รับความรู้ด้านการพัฒนาศักยภาพ นำไปสู่การพัฒนาในการแสดงออกถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเอง  ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งแก้ไขปัญหาในชุมชนและสังคม ตลอดจนภาครัฐได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพสตรีมุสลิมมากขึ้น
ทางด้าน นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้ให้ความสำคัญกับโครงการดังกล่าว จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นมาเพราะเป็นโครงการที่สตรีมุสลิมได้รับประโยชน์ เพิ่มพูนความรู้ วิสัยทัศน์ และประสบการณ์ตรงในการนำไปประยุกต์ใช้และพัฒนาศักยภาพสตรีทั้งด้านผู้นำและผู้ตาม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแสดงออกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มสตรีมีความเข้มแข็ง นำไปสู่ต้นแบบของการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคมโดยรวม ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ได้ทีมวิทยากรจากสถาบันการพูดและบุคลิกภาพ อมานะห์ที่มาบรรยายให้ความรู้ ความเข้าใจแก่มุสลิมในจังหวัดภูเก็ต จึงขอให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านนำความรู้ที่ได้รับในวันนี้ไปพัฒนาต่อยอด ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมต่อไปนายก อบจ.ภูเก็ต กล่าว.
--------------------------------------
ทีมผู้บริหาร ร.. สตรีภูเก็ต ร่วมกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษกระชับสัมพันธ์กับสื่อมวลชนภูเก็ต. 
               เมื่อเวลา 14 .30 น.วันที่ 28 กรกฎคม 2554  ที่สนามฟุตบอลโรงเรียนสตรีภูเก็ต นำโดยนายเกียรติศักดิ์ ปิลวาสน์   ผู้อำนวยการโรงโรงเรียนสตรีภูเก็ต พร้อมด้วย นายชัยอนันต์ สุทธิกุล นายกเทศมนตรีเมืองกะทู้ นายสุรทิน เลี่ยนอุดม นายกเทศมนตรีตำบลรัษฎา นำทีมผู้บริหาร ร.. สตรีภูเก็ต ร่วมกับ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ร่วมแข่งขันฟุตบอลนัดพิเศษกับทีมสื่อมวลชนภูเก็ต นำทีมโดย นายโสภณ เคี่ยมการ ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์ จ.ภูเก็ต นายปิยะ แสงแก้ว บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงใต้
                นายเกียรติศักดิ์ กล่าวว่า  โรงเรียนสตรีภูเก็ต ได้จัดการแข่งขันกีฬาสี ภายในโรงเรียนประจำปี 2554 ระหว่างวันที่ 27-29 กรกฎาคม  2554     โดยในวันนี้เชิญผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะครูอาจารย์ แข่งขันฟุตบอลกับทีมสื่อมวลชน เพื่อต้องการกระชับความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่าง หน่วยงานสื่อมวลชนกับคณะครูอาจารย์ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกายซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันอีกด้วย  ทั้งนี้ผลการแข่งขัน ทีมสื่อมวลชนชนะด้วยจุดโทษ 8 ประตูต่อ 5 ในเวลาเสมอ 3 ประตูต่อ 3  
***สิรินทร สินอนันต์ ข่าว โสภณ เคี่ยมการ ตรวจทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป